จริยธรรม



ความหมายของจริยธรรม

                จริยธรรมมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าจริยศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันอีกหลายคำ บางครั้งก็มีการนำมาใช้แทนกัน ซึ่งให้ความหมายทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน ดังนั้น การทำความเข้าใจความหมายและขอบข่ายของจริยธรรมกับศัพท์เกี่ยวข้องในหลายมุมมอง ทำให้ทราบถึงทรรศนะมุมมองของผู้รู้ต่าง ๆ ที่พยายามศึกษาแนวคิดจริยธรรมในด้านที่แตกต่างกันออกไปโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงคำว่าจริยธรรม ผู้ฟังหรือผู้อ่านมักจะพิจารณาอยู่ในกรอบคิดเกี่ยวกับศาสนา ทั้งนี้ เพราะคำสอนทางศาสนามีส่วนสร้างระบบจริยธรรมให้สังคม ดังคำกล่าวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ว่า “จริยธรรมของสังคมไทยขึ้นอยู่กับระบบศีลธรรมของพุทธศาสนาว่า กำหนดหลักในการปฏิบัติในชีวิตประจำไว้อย่างไร หลักจริยธรรมก็จะกำหนดให้ปฏิบัติตามนั้น
-จริยธรรม หมายถึง คุณสมบัติทางความประพฤติ ที่สังคมมุ่งหวังให้คนในสังคมนั้นประพฤติ มีความถูกต้องในความประพฤติ มีเสรีภาพภายในขอบเขตของมโนธรรม (Conscience) เป็นหน้าที่ที่สมาชิกในสังคมพึงประพฤติปฏิบัติต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคม ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองขึ้นในสังคม การที่จะปฏิบัติให้เป็นไปเช่นนั้นได้ ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด
ค่านิยม หมายถึง ความโน้มเอียง หรือแนวทางที่คนจะประพฤติตนไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่งที่ตัวเองได้พิจารณาไตร่ตรองแล้วว่า เป็นสิ่งที่ดีสำหรับตนหรือสังคมยอมรับนับถือและปฏิบัติตามแนวคิดนั้น ๆ อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ค่านิยมมีความหมายถึงแนวคิดเกี่ยวกับความดีงามในความประพฤติ โดยผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากความประพฤตินั้น ๆ ถ้าหากเป็นเพียงเจตคติ (Attitude) ความเชื่อ (Belief) ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นค่านิยมจนกว่าจะได้พิจารณาถึงผลที่จะตามมาจากความประพฤติหรือการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบและมีการปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ     
      จากนิยามข้างต้น แม้ว่าจริยธรรมไม่สามารถแยกเด็ดขาดจากศีลธรรม แต่คำว่าจริยธรรม จะมีความหมายกว้างกว่าศีลธรรม เพราะศีลธรรมเป็นหลักคำสอนทางศาสนาที่ว่าด้วยความประพฤติปฏิบัติชอบ ส่วนจริยธรรม หมายถึง หลักแห่งความประพฤติปฏิบัติชอบ ซึ่งมีรากฐานอยู่บนหลักคำสอนของศาสนา ปรัชญาและขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติตนเพื่อการบรรลุถึงสภาพชีวิตอันทรงคุณค่าที่พึงประสงค์ ทั้งนี้ เหตุที่จริยธรรมมักอิงอยู่กับศาสนา เนื่องจากคําสอนทางศาสนามีส่วนสร้างระบบจริยธรรมให้สังคม แต่ไม่ได้หมายความว่าจริยธรรมอิงอยู่กับหลักคําสอนทางศาสนาเพียงอย่างเดียว แท้ที่จริงจริยธรรมยังหยั่งรากอยู่บนวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี และโดยนัยนี้ บางท่านเรียกหลักแห่งความประพฤติอันเนื่องมาจากคําสอนทางศาสนาว่า ศีลธรรม และเรียกหลักแห่งความประพฤติอันพัฒนามาจากแหล่งอื่นว่าจริยธรรม นอกจากนี้จริยธรรมยังมิใช่กฎหมาย เนื่องจากกฎหมายเป็นสิ่งบังคับให้คนทำตาม และมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน สาเหตุที่คนเคารพเชื่อฟังกฎหมายเพราะกลัวถูกลงโทษ ขณะที่จริยธรรมไม่มีบทลงโทษ ดังนั้น คนมีจริยธรรมเพราะมีแรงจูงใจ อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับจริยธรรมในฐานะเป็นแรงหนุนจากภายนอกเพื่อให้คนมีจริยธรรม           
       ส่วนคำว่า จริยศาสตร์ มาจากภาษาสันสกฤต ๒ คำ คือ จริย หมายถึงความประพฤติ กับ ศาสตร์ หมายถึงความรู้ ถ้าจะแปลความตามตัวอักษร จริยศาสตร์ หมายถึงความรู้เกี่ยวกับความประพฤติ จริยศาสตร์ในภาษาอังกฤษ คือ Ethicslซึ่งมาจากคำภาษากรีกว่า Ethos มีความหมายว่า Customllคือ ขนบธรรมเนียม หรือ ธรรมเนียมปฏิบัติ และคำว่า Ethics มีความหมายว่า ศาสตร์แห่งศีลธรรม (Science of Morals) ทั้งนี้ ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายจริยศาสตร์ว่า เป็นปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยความประพฤติ และการครองชีวิต ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด หรืออะไรควร อะไรไม่ควรดังนั้น จริยศาสตร์จึงหมายถึง ความรู้ หลักการ หรือทฤษฎีที่ใช้เหตุผลแยกความดีออกจากความชั่ว เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญา และเป็นศาสตร์ที่เป็นบรรทัดฐานของความประพฤติของมนุษย์ ทำให้จริยศาสตร์มีความเด่นชัดแตกต่างไปจากศาสตร์ที่มีรูปแบบอื่น ๆ อาทิ คณิตศาสตร์ ตรรกศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เชิงผัสสะต่างๆ (Empirical Sciences) เช่น เคมี และฟิสิกส์      


http://www.baanjomyut.com/library/ethics/01.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น